สารเคมีส่วนใหญ่ที่มีใช้ในห้องปฏิบัติการหรือในอุตสาหกรรมส่วนมากจัดเป็นสารอันตรายซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติภัยได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะเป็นการระเบิด การเกิดก๊าซพิษ การเกิดอัคคีภัยและภัยต่างๆ ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายสูง ในบางครั้งอาจลุกลามทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียง ดังนั้นภายในหน่วยงานควรมีมาตรการความปลอดภัยด้านสารเคมีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษา วิธีใช้ การจัดเก็บของเสีย การปฐมพยาบาลและการป้องกันสารเคมี สิ่งหนึ่งที่ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีควรต้องจัดทำคือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (Material Safety Data Sheet : MSDS) เป็นเอกสารข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ซึ่งมีข้อมูลวิธีการแก้ไขเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมีนั้นๆ ควรที่จะต้องมีเอกสารดังกล่าวประจำพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อสามารถหยิบใช้ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถ้าเป็นสารเคมีที่ใช้ทั่วไปในห้องปฏิบัติการ MSDS สามารถหาได้จากบริษัทผู้ผลิตหรือจากอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าเป็นสารเคมีที่ไม่แพร่หลาย หรือเป็นสารผสมที่ผู้ประกอบการผลิตขึ้นเอง เช่น ตัวทำละลายอินทรีย์ น้ำยาทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ผู้ประกอบการนั้นจะต้องจัดทำ MSDS ขึ้นเอง จึงควรศึกษาถึงรายละเอียดและหัวข้อที่กำหนดใน MSDS เสียก่อนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ
ข้อมูลใน MSDS โดยทั่วไปจะประกอบด้วย 16 หัวข้อ ซึ่งหัวข้อที่ 1-10 เป็นหัวข้อที่บังคับจะต้องมีตามข้อกำหนดของ Occupational Safety and Health Act (OSHA) ส่วนหัวข้อที่ 11-16 เป็นส่วนเสริมให้ MSDS มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีรายละเอียดดังนี้คือ
ส่วนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย (Chemical Product and Company Identification)
-ชื่อของสารเคมีตาม IUPAC
-ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของบริษัทผู้จัดจำหน่าย
-วิธีจัดทำเอกสาร หรือวันที่ที่มีการปรับปรุงครั้งล่าสุด เพราะอาจมีการค้นพบผลกระทบใหม่ๆของสารนั้น
-ชื่อสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ตามที่ระบุบนฉลากปิดภาชนะบรรจุ
-ชื่ออื่นที่เรียกสารหรือผลิตภัณฑ์เดียวกัน
ส่วนที่ 2 องค์ประกอบ/ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients)
-กรณีที่เป็นของผสมให้ระบุส่วนประกอบเป็นร้อยละ
-ให้ระบุสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีปริมาณเกินร้อยละ 1 แต่ถ้าเป็นสารก่อมะเร็งต้องระบุเมื่อมีปริมาณเกินร้อยละ 0.1
-หมายเลข CAS (Chemical abstract Service) ของส่วนผสมทุกตัว เพื่อสะดวกในการค้นข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนที่ 3 สมบัติทางกายภาพและทางเคมี (Physical and Chemical Properties)
-บอกสมบัติของสารเช่นน้ำหนักโมเลกุล จุดเดือด จุดเยือกแข็ง การละลาย ความหนืด ความถ่วงจำเพาะ สี กลิ่น ลักษณะภายนอก ค่าความดันไอ
ส่วนที่ 4 มาตรการการผจญเพลิง (Fire-fighting Measures)
-ข้อมูลการดับเพลิงสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือหน่วยกู้ภัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเตรียมการดับเพลิงได้อย่างถูกต้อง
-บอกถึงวัสดุที่เหมาะสมในการดับไฟ เช่น ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ หรือต้องใช้น้ำยาเคมี
-บอกถึงวิธีการหรือข้อควรระวังในการดับไฟ
-สารอันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการลุกไหม้หรือไฟไหม้
-สมบัติการติดไฟหรือการเกิดระเบิด
-อันตรายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างดับเพลิง เช่น ขณะดับเพลิงสารที่เหลืออยู่สามารถเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นบ้าง
ส่วนที่ 5 ความเสถียรและความว่องไวต่อปฏิกิริยา (Stability and Reactivity)
-ความเสถียรของสาร สารพิษที่เกิดจากการสลายตัว สารที่ไม่ควรเก็บไว้ร่วมกัน เพื่อให้รู้ถึงสภาวะที่เหมาะสมในการเก็บรักษา สภาวะใดควรหลีกเลี่ยง
ส่วนที่ 6 มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)
-การปฐมพยาบาลและการรักษาเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายทุกช่องทาง เช่น หู ตา คอ จมูก
-รายชื่อยาที่ใช้รักษา หรือต้านพิษ
-ข้อมูลหรือหมายเหตุสำหรับแพทย์ผู้รักษา
ส่วนที่ 7 ข้อมูลบ่งชี้อันตราย (Hazards Identification)
-บอกถึงลักษณะโดยทั่วไปของสารเช่น ของแข็ง ของเหลว สี กลิ่น เพื่อให้รู้ว่าสารมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
-ข้อมูลทั่วไปสำหรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
-โอกาสที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย
-อาการเมื่อได้รับสารพิษ ช่องทางที่สารพิษเข้าร่างกาย พิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นและวิธีรักษา
ส่วนที่ 8 ข้อมูลการใช้และการจัดเก็บ (Handing and Storage Information)
-คำแนะนำทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตราย
-วิธีการเก็บรักษา เพื่อไม่ให้ภาชนะบรรจุเสียหายหรือเสื่อมสภาพ
ส่วนที่ 9 ข้อแนะนำในการกำจัดกาก หรือสารเหลือใช้ (Disposal Considerations)
-ประเภทของเสียที่จะเกิดขึ้น
-วิธีการกำจัด ข้อกำหนดตามกฎหมายหรือระเบียบทางราชการ
-ทางเลือกอื่นในการกำจัด เช่นการหมุนเวียน การใช้ซ้ำ หรือมารนำกลับมาใช้ใหม่
ส่วนที่ 10 การควบคุมการสัมผัส/การป้องกันส่วนบุคคล (Exposure Control/Personal Protection)
-วิธีการควบคุมด้วยระบบวิศวกรรม เช่น การออกแบบตึก การออกแบบห้องปฏิบัติการ การระบายอากาศที่ดี การเลือกใช้ตู้ดูดควัน
-การควบคุมด้วยระบบจัดการ เช่น การอบรม ออกระเบียบ เขียนป้ายเตือน
-อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ต้องใช้ เช่น หน้ากากป้องกันไอสารพิษ ถุงมือ แว่นตา
ส่วนที่ 11 มาตรการเมื่อมีการปล่อยสารโดยอุบัติเหตุ (Accidental Release Measure)
-คำแนะนำสำหรับวิธีการเมื่อเกิดการหกรั่วไหล
-คำแนะนำในการอพยพผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
-การควบคุมการแพร่กระจาย และวิธีชำระล้างสารที่หกรั่ว
-สารที่เข้ากันไม่ได้และอันตรายที่จะเกิดขึ้น
-การสลายตัวหรือการระเหยที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการจัดเก็บ
ส่วนที่ 12 ข้อมูลทางพิษวิทยา (Toxicological Information)
-บอกระดับความรุนแรงของพิษ ความเป็นพิษเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เช่นค่า LD50, LC50
ส่วนที่ 13 ข้อมูลทางนิเวศวิทยา (Ecological Information)
-ผลที่เกิดต่อสัตว์น้ำ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พืช จุลินทรีย์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
-ผลกระทบทางเคมีที่เกิดขึ้นต่อ อากาศ น้ำ และดิน
ส่วนที่ 14 ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่ง (Transportation Information)
-ข้อมูลทั่วไปในการขนส่ง
-ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงบนพาหนะขนส่ง หรือในระหว่างขนส่ง
ส่วนที่ 15 ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนด (Regulatory Information)
-ปริมาณที่จัดเก็บได้ในสถานที่ใช้งาน
-ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดตามกฎหมายที่ต้องรายงานให้กับหน่วยงานราชการ
-รหัสหรือสัญลักษณ์เช่น สัญลักษณ์ความเป็นพิษ ความไวไฟ
ส่วนที่ 16 ข้อมูลอื่นๆ (Other Information)
-รายชื่อเอกสารอ้างอิง
-รายชื่อแหล่งข้อมูลที่สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้
-ระดับความเป็นอันตรายของสาร